Wednesday, April 04, 2012

นมัสเตอินเดีย 5 - 12 ก.พ. 55

บันทึกการท่องเที่ยวอินเดีย 5 – 12 ก.พ. 55

5 ก.พ. 55

พวกเรา ประกอบด้วย เรา จุ๋ยและหมอปุ้มเดินทางไปอินเดียด้วยการจองตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียแบบข้ามปี เรียกว่าพอผ่านช่วงน้ำท่วมมาได้ ก็ตั้งหน้าเที่ยวกันทีเดียวเชียว หลังกินติ๋มซำสั่งลาที่ครัวกรุงเทพฯ ก่อนจะไปกินอาหารที่มีเครื่องเทศกันอีกหลาย 10 มื้อกันแล้ว พวกเราก็เดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไม่รีบร้อนนัก

ผู้โดยสารบนเครื่องของแอร์เอเชียทั้งลำ มีแต่พวกเราเท่านั้นที่เป็นคนไทย ที่เหลือเป็นอาบังกลิ่นตัวแรงกันทั้งนั้น นับว่าคิดถูกเป็นอย่างยิ่งที่พกยาดมติดตัวไปด้วยถึง 2 หลอด หลอดหนึ่งเอาไว้ใช้ ส่วนอีกหลอดเอาไว้ทำหาย

4 ชั่วโมงถัดมา พวกเราก็มาถึงสนามบินนิวเดลี หรือสนามบินอินทิรา คานธี จากการศึกษาข้อมูลมาอย่างดี? เราก็มุ่งหน้าไปยังเคาน์เตอร์ Prepaid Taxi ของสนามบิน เพื่อจ่ายเงินค่าแท็กซี่ไปยังที่พักในคืนนี้ พวกเราจองโรงแรมไว้ล่วงหน้าทุกคืนจากเว็บอโกด้า เนื่องจากหากไปหาเอาดาบหน้าค่อนข้างจะเสียเวลาและคนขับแท็กซี่อินเดียมักจะมีชื่อเสียงในด้านลบที่ชอบพาผู้โดยสารไปโรงแรมที่ไม่ดีนักแต่เขาได้ค่าคอมมิชชั่น

พอออกมาจากสนามบินได้ พวกเราก็ไปตามหาช่องจอดรถหมายเลขที่พนักงานบอก ก่อนจะได้นั่งรถกึ่งตุ๊กๆ กึ่งสองแถว ที่มีกลิ่นแอมโมเนีย (อย่าให้เดาเลยว่าเป็นฉี่) โชยมาตลอด 20 นาทีของการเดินทางเข้าเมือง ที่พักคืนนี้เป็นโรงแรมในย่านพหากันจ์ของนิวเดลี เรียกว่าอยู่ในถนนข้าวสารของเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะตลอดเส้นของถนนมีโรงแรมเรียงกันอยู่เป็นพืด และมีรูปแบบเดียวกันคือป้ายไฟชื่อโรงแรมเป็นตัวอักษรแนวตั้ง หลังจากเช็คอินด้วยใบจองจากอโกด้าแล้วพนักงานก็พาเราขึ้นลิฟท์ที่ใกล้เคียงกับลิฟท์ขนของบ้านเราไปยังห้องพัก ก่อนจะงงกับทิปเป็นเงินไทย 20 บาท เพราะตอนนั้นพวกเราไม่มีเงินรูเดือนหรือหน่วยย่อยของ 1,000 รูปีกันเลย

วางข้าวของกันเสร็จพวกเราก็เริ่มอาหารออริจินัลมื้อแรกของอินเดียที่ห้องอาหารของโรงแรม เพราะดูเหมือนจะไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ที่จะเดินออกไปหาร้านอาหารช่วง 2 ทุ่มกว่าๆ ในย่านนี้ ดีอยู่อย่างที่ในหนังสือแนะนำว่าถ้าไม่รู้จะสั่งอะไรให้สั่งผัดหมี่ หรือ โชวเหมี่ยน (chow mien) ซึ่งรสชาติจะคล้ายกับอาหารไทยที่สุดมากิน รับรองไม่ผิดหวัง ซึ่งก็ไม่ผิดหวังจริงๆ สำหรับหมอปุ้มที่กินอาหารที่มีเครื่องเทศไม่ได้ ส่วนคนอื่นๆ ก็ยังมีข้าวหมก กับแกงกระหรี่ให้ลองชิมดู หลังจากเรียกเก็บเงินแล้ว พนักงานก็เอาถ้วยที่มีน้ำตาลกรวดสีเขียวสวย กับเม็ดสมุนไพรรีๆเล็กๆ มาวางให้ พอเห็นพวกเราทำหน้างงๆ เขาก็กางมือออกแล้วหยิบทั้งสองอย่างมาวางบนฝ่ามืออย่างละนิดแล้วก็เอาเข้าปากเคี้ยวให้ดู เราก็เลยทำตามบ้าง แล้วก็ถึงบางอ้อว่าสมุนไพรหอมๆ ที่เคี้ยวอยู่ คงเอาไว้ดับกลิ่นปากจากการกินเครื่องเทศ พอถามว่ามันคืออะไรก็ได้คำตอบว่า anise ซึ่งทีแรกเราก็งง เพราะคุ้นเคยกับ star anise หรือ โป๊ยกั๊ก มากกว่า แต่ลักษณะของมันน่าจะเป็นพวกเมล็ดเทียนหรือยี่หร่า (อินเดียใช้คำว่าจี่ร่า Jeera) หรืออะไรที่มีกลิ่นคล้ายๆ ลูกอมแฮ็กส์นั่นเอง



หลังอาหารค่ำ พวกเราออกมาเดินดูบรรยากาศหน้าโรงแรมและซื้อน้ำดื่ม ก่อนจะรีบกลับไปพักผ่อน เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นและวันรุ่งขึ้นให้โรงแรมนัดแท็กซี่เพื่อจะไปสถานีรถไฟในเวลา 5.00 น. แต่กลับขึ้นไปบนห้องได้ก็มีกลิ่นไม่สะอาดโชยเข้ามาจนนึกว่ามีหนูตายอยู่ในห้อง จากตอนแรกที่เข้ามาไม่มีกลิ่นเลยเดากันว่าน่าจะมาจากตลาดสดด้านข้างโรงแรมซะมากกว่า

6 ก.พ. 55

วันนี้เราตื่นมาตั้งแต่ 3.00 น. ถึงแม้ว่าเวลาในเมืองไทยจะเกือบ 4.30 แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าเช้ามากๆ อยู่ดี จากการเข้าห้องน้ำเป็นคนแรกทั้งเมื่อคืนวานและในเช้านี้ ทำให้รู้ว่ากระป๋องน้ำและกระบวยตักน้ำ ที่เหมือนจะเป็นส่วนเกินอยู่ในอ่างอาบน้ำนั้น ที่แท้ก็เอาไว้รองน้ำเพื่อผสมให้ความอุ่นคงที่นั่นเอง เพราะที่นี่อินเดีย ถ้าหวังว่าจะปรับอุณหภูมิด้วยก๊อกน้ำแบบในเมืองไทยคงต้องดิ้นพราดๆ เป็นหมูลวกหรือหมูแช่เย็นซะก่อนจะได้อาบอย่างจริงๆ จังๆ

ที่เคาน์เตอร์ของโรงแรมดูเหมือนจะเปิดอยู่ทั้งคืน เพราะพอพวกเราขนกระเป๋าเดินลงบันไดมา (พอไม่มีพนักงานก็ไม่กล้าใช้ลิฟท์ที่เปิดประตูจากชั้นที่พัก เห็นเพียงความว่างเปล่า ไม่รู้ตัวลิฟท์ไปอยู่ซะที่ไหน) พนักงานก็ออกไปปลุกแท็กซี่ที่จอดนอนอยู่ด้านหน้าโรงแรมให้ทันใด แต่เจ้ากรรม กว่าคนขับแท็กซี่จะรู้สึกตัวตื่นพวกเราก็ยืนล้อมรถกันไว้หมดแล้ว ได้ยินเสียงพึมพำขอโทษเล็กๆ ก่อนจะเรียกขึ้นรถ

พวกเรานั่งรถมา 20 กว่านาที เรียกว่านานทีเดียว ทั้งที่ข้อมูลจากอโกด้าและพนักงานโรงแรมบอกว่าไม่เกิน 15 นาทีก็ถึงสถานีรถไฟแล้ว ในที่สุด จุ๋ยก็อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นว่าเริ่มจะออกนอกเมือง เลยทวนคำสั่งว่าพวกเราจะไปสถานีรถไฟกันนะเฟ้ย คนขับที่น่าจะยังงัวเงียอยู่เลยเพิ่งถึงบางอ้อว่าเราไม่ได้จะไปสนามบินกัน ดีที่ยังพอมีเวลาให้เราไปถึงสถานีรถไฟจนได้ในตอนตี 5 ครึ่งกว่าๆ

แต่หลังจากนั้นพวกเราก็เริ่มซึมซับความเป็นอินเดียในอีกแง่หนึ่ง (ดูจะเป็นแง่ร้ายซะมากกว่า) ที่สถานีรถไฟ New Delhi ผู้โดยสารคนอื่นๆ เข้าแถวเรียงกันยาวเหยียดเพื่อผ่านช่องตรวจอาวุธ พวกเราเลยไปต่อคิวกับเขาด้วย เห็นบางคนท่าทางเหมือนจะเป็นเจ้าหน้าที่ เดินถือปากกาและคอยสอบถามคนโน้นคนนี้ จนมาถึงพวกเรา จุ๋ยก็เลยยื่นใบจองตั๋วรถไฟ ที่จองทางอินเตอร์เนตจากเมืองไทยให้ดู และถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่าใช้ได้ใช่มั๊ย หลังจากถามที่โรงแรมมารอบหนึ่งแล้วซึ่งทางนั้นบอกว่าใช้ได้ นายคนที่ว่าทำท่างงๆ หลังจากรับไปดูและบอกให้เรารีบไปติดต่อที่แผนกนักท่องเที่ยวชั้น 2 เมื่อเห็นว่าน่าจะมีปัญหา เรากับจุ๋ยก็เลยให้หมอปุ้มเฝ้ากระเป๋าไว้ แล้วขึ้นไปที่ชั้น 2 ของสถานีรถไฟ

แน่นอนว่า แผนกนักท่องเที่ยวในตอนเกือบ 6 โมงเช้ายังไม่มีพนักงานอยู่ พวกเราเมียงๆ มองๆ กันอยู่แถวนั้นก็เห็นมีผู้ชายอีกคนท่าทางเหมือนกับทำงานในอีกแผนกหนึ่งใกล้ๆ กัน จุ๋ยเลยเดินไปถามว่าพวกเรามีใบจองตั๋วรถไฟแบบนี้ จะต้องมีตั๋วรถไฟอีกหรือไม่ นายคนนั้นก็รับไปอ่านดู แล้วบอกว่าพวกเราต้องเอาใบจองนี้ไปแลกเป็น boarding pass ซะก่อน ถึงจะใช้เป็นตั๋วรถไฟได้ จุ๋ยยังงงกับคำว่า boarding pass เลยยื่นพาสปอร์ตให้เขาดู ซึ่งเขาก็รีบบอกว่าไม่ใช่พาสปอร์ต แถมยังเตือนอย่างหวังดีว่าพวกเราเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ควรเอาพาสปอร์ตมาให้คนแปลกหน้าดู มันไม่ปลอดภัย แล้วเขาก็อ่านชื่อบริษัทที่พวกเราจองมาจากใบจอง ก่อนจะบอกว่า ที่จริงบริษัทนี้ก็อยู่ไม่ไกลและเปิดทำการตลอด ถ้าพวกเราจ้างแท็กซี่ให้ไปส่งที่บริษัท เพื่อแลกเป็น boarding pass ก็น่าจะทันเวลารถไฟออก ตอน 6.15 น. เขาทิ้งระยะให้พวกเราตัดสินใจอย่างแตกตื่นนิดหน่อย แล้วจึงบอกอย่างหวังดีและน่าเชื่อถือว่า ให้พวกเราบอกแท็กซี่ว่าให้รอรับกลับด้วย จะได้ไม่เสียเวลาเรียกแท็กซี่คันใหม่อีก จากนั้น พอเห็นพวกเรามองหน้ากันอย่างชั่งใจ เขาก็เลยบอกให้ตามเขามา จะช่วยบอกรถแท็กซี่ให้ แล้วก็พาลงบันไดมาที่ชั้นล่างอีกครั้ง

จากที่อ่านมาในหนังสือและเว็ปไซต์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีการเตือนให้ระวังมิจฉาชีพที่สถานีรถไฟนี้ในทำนองคล้ายๆ กัน เราเลยบอกจุ๋ยที่เริ่มลนว่า ถ้างั้นขอเวลาแป๊บเดียวจะไปถามตำรวจที่คอยตรวจคนอยู่ตรงช่องตรวจอาวุธให้แน่ชัดไปเลยว่าใบจองนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ แล้วก็เชิดใบจองเดินลิ่วแหวกแถวเข้าไปถาม โล่งใจอยู่หน่อยที่ตำรวจคนนั้นถามตอบกันรู้เรื่อง ด้วยประโยคสำคัญที่สุดก็คือ “ใช้ได้ขรั่บ” เราก็เลยเดินไปบอกคุณชายที่คิ้วเริ่มผูกโบว์ว่า เจ้าหน้าที่สถานีบอกใช้ได้ชัวร์ ส่วนไอ้คนนั้นจะเดินไปถึงไหนแล้วก็ปล่อยมารดามันไปเถอะ!

พอผ่านช่องตรวจเข้ามาที่ชานชาลาได้พวกเราก็เริ่มเล่าเรื่องทั้งหมดให้หมอปุ้มฟังด้วยข้อเท็จจริง 40% อีก 60% เป็นการสรรเสริญพลพรรคต้มหมูชาวอินเดีย กว่ารถไฟด่วนพิเศษ (Shatabdi express) ขบวนที่จะไปอักรา (Agra) จะมาจอดก็เลยเวลาออกไปนิดหน่อย เราขึ้นรถทีหลังเลยแทบไม่มีช่องไว้กระเป๋าเดินทาง แต่สภาพรถไฟนั่งชั้น 1 ที่ขึ้นมา นับว่าดีมาก เทียบได้กับรถสปิ้นเตอร์บ้านเราเลยทีเดียว และยังมีน้ำชาร้อน น้ำดื่ม อาหารเช้า เสริฟให้บนรถอีกด้วย พวกเราจองที่นั่งได้กลางขบวนเลยมีโต๊ะให้วางของโดยหันหน้าเข้าหาผู้โดยสารอีกฝั่งหนึ่ง ส่วนแถวอื่นๆ เป็นเก้าอี้ธรรมดาที่ไม่มีโต๊ะ อาหารเช้ามีให้เลือกแบบมังสวิรัติ (veg) กับเนื้อสัตว์ (non veg) เราเลือกมังสวิรัติ (ผิดวิสัยมาก แต่ในหนังสือบอกอร่อยก็เลยเลือกชิมดู) ก็ได้มันฝรั่งบดชุบเกร็ดขนมปังทอด (อย่างเย็นชืด) ให้กระเดือกเข้าไปนิดหน่อย ส่วนหมอปุ้มเลือกอาหารปกติให้ก็ได้ออมเลต แบบเย็นชืดเหมือนกัน มากิน ที่แย่กว่านั้น ดูเหมือนภาชนะเช่นแก้วพลาสติกหรือช้อนจะไม่ค่อยสะอาดเท่าไรนัก

การจองตั๋วรถไฟ online นั้นทำได้ง่าย ถ้าจะจองด้วยเว็บของการรถไฟอินเดีย www.indianrail.gov.in โดยต้องลงทะเบียนโดยให้เบอร์มือถือของอินเดียเป็นเบอร์ติดต่อและรับ password ก่อน ซึ่งการจองแบบนี้ ไปถึงอินเดียแล้วจองจะสะดวกกว่า แต่พวกเราใช้วิธีจองผ่านเอเจนซี่ของอินเดียซึ่งไม่ต้องใช้เบอร์มือถือ แต่จะคิดค่าธรรมเนียมการจองเพิ่มอีกประมาณ 15% ที่ www.cleartrip.com/trains ซึ่งสะดวกดี เราก็เลยจองตั๋วเครื่องบินในประเทศกับเว็บไซต์นี้ด้วยเลย

เวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ บนรถไฟที่วิ่งไม่เร็วไม่ช้า ให้พอมองเห็นวิวข้างทางเมื่อฟ้าสว่างแล้ว ดูๆ ไปก็ไม่แตกต่างกับเมืองไทยมากมายนัก ส่วนในรถไฟ ผู้โดยสารทั้งหลายไม่ได้ควักโทรศัพท์ของตัวเองขึ้นมากดๆ เล่นเหมือนกับในรถไฟฟ้าเมืองไทย ยังคงมีหนุ่มกรุงเทพอยู่ผู้เดียวที่เดี๋ยวๆ ก็มีเสียง ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง ให้ควักโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น แล้วก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่ในโลกส่วนตัว

รถไฟไม่ได้จอดทุกสถานี และที่ควรปรับปรุงก็คือไม่มีเสียงประชาสัมพันธ์ว่าถึงสถานีไหนแล้ว แต่รถก็จอดนานพอสมควร ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงต้องหาข้อมูลมาให้ดีว่าจะต้องลงที่สถานีไหน แล้วมองป้ายที่ตัวสถานีเอาเอง อย่างเช่นเมืองอักราที่พวกเราเดินทางมานี้มีสถานีรถไฟถึง 3 สถานี และพวกเราจะต้องลงที่สถานี Agra Cantt หรือ Agra cantonment ที่ถึงก่อนสถานีอื่น

หอบหิ้วกระเป๋าลงจากรถมาได้ ฝูงคนขับแท็กซี่ก็มารุมล้อมพวกเราเหมือนแมลงวัน ดูไปแล้วขี้ เอ๊ย หัวหน้าทริปผิวขาวชาวเกาหลีของพวกเราก็แตกต่างจากคนอินเดียอื่นๆ ทั้งสถานี เสมือนปักป้ายบนหัวไว้แล้วว่า “ตูเป็นนักท่องเที่ยวนะจ๊ะ” แต่หลังจากเกือบถูกหลอกที่สถานีเดลีแล้ว จุ๋ยก็ระแวงไปหมด และเดินหา prepaid taxi อย่างจริงจัง ไม่สนใจคำชวนใดๆ เลย

เคาน์เตอร์ prepaid อยู่ด้านนอกสถานี แต่เป็นสถานที่วุ่นวายมาก เพราะเป็นเพิงแคบๆ ขนาดเท่าๆ ป้อมยามที่รถผ่านหน้าโรงแรมในเมืองไทยเท่านั้น มีเจ้าหน้าที่อยู่ข้างใน 2 คน รอบๆ เพิงมีคนขับแท็กซี่รุมอยู่เต็มไปหมด จนพวกเราไม่รู้จะต่อคิวจ่ายเงินตรงไหนดี และก็ไม่มีการจัดการคิวแท็กซี่ด้วย เรียกได้ว่า คนขับคนไหนอยู่ใกล้กับลูกค้าที่สุดก็จะได้ลูกค้าไป

โชคดีที่คราวนี้รถของพวกเราค่อยดูเป็นแท็กซี่หน่อย แต่ถึงยังไงเก๋งทาทาก็เรียกว่าเล็กอยู่ดี (ใครคิดจะซื้อก็ไปลองนั่งดูก่อนนะคะ) กระเป๋าของพวกเราต้องเอาขึ้นไปมัดไว้บนหลังคารถถึง 2 ใบ ก่อนจะตรงไปโรงแรม เราก็บอกให้รถจอดที่หน้าโรงแรมซากุระเสียก่อนเพื่อจะจองตั๋วรถทัวร์ไปชัยปุระ (Jaipur) ในวันรุ่งขึ้น ถึงรถที่ได้จะไม่ใช่ VIP และไม่มีแอร์ (รถ VIP จะมีเฉพาะเที่ยวบ่ายของทุกวัน) แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาที่สะดวกในการเดินทางที่สุดแล้ว

ระหว่างทางคนขับแท็กซี่ก็พยายามชวนพวกเราคุย และบอกราคาเหมาสำหรับเที่ยวในเมืองนี้หากเราสนใจ แต่จุ๋ยซึ่งยังระแวงอยู่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก ผิดกับพจที่หัวเราะชอบใจอารมณ์ขันของพี่แท็กซี่ที่ตอนรถผ่านขบวนม้าของเจ้าบ่าว เขาก็เล่าให้ฟังว่าวันแต่งงานเป็นวันเดียวที่ผู้ชายเราจะได้ยิ้มแย้ม หลังจากนั้นแล้วเป็นเรื่องเศร้า ทิ้งช่องให้พจได้ถามเขาว่างั้นคุณคงแต่งงานแล้วล่ะสิ คิก คิก....(สม)

มาถึงที่พักหลักร้อยของอักราที่เราจองกันไว้จนได้ จุ๋ยไม่ได้ตกลงเหมาแท็กซี่พาพวกเราเที่ยวต่อ แต่ก็นัดให้เขามารับไปส่งที่ท่ารถทัวร์ในวันรุ่งขึ้น เพื่อความมั่นใจ พวกเราก็เลยขอนามบัตรคุณบาบูไว้เผื่อโทรตาม เราลากกระเป๋าต่อไปอีกประมาณ 50 เมตร ผ่านป้อมยามเขตทัชมาฮาล (ห้ามรถยนต์ผ่านเนื่องจากควันรถจะทำให้เกิดผลเสียกับหินอ่อนของทัชมาฮาล) เพื่อไปที่โรงแรมสิทธิธัตถะ โรงแรมนี้มีความเห็นจากลูกค้ามากมายว่าถูกและดี แถมยังอยู่ใกล้ทัชมาฮาล (เดินไปอีก 100 เมตร) พอเข้าไปเห็นการต้อนรับและห้องพักก็รู้สึกดีจริงๆ คะแนน 8 เต็ม 10 จากอโกด้าไม่ได้มาจากหน้าม้าเลย และเนื่องจากราคาห้องประมาณ 400 บาทเท่านั้น พวกเราก็เลยจองไว้ 2 ห้อง ไม่คิดจะเสริมเตียงเหมือนโรงแรมในคืนอื่นๆ



พักกันครู่เดียวก่อนที่จะหลับไปซะก่อน เราก็ตรงไปยังทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนที่ยิ่งใหญ่และเป็นตำนาน ถึงแม้ค่าผ่านประตูจะค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับคนพื้นเมือง แต่พาสปอร์ตไทยก็ยังได้ส่วนลดด้วยเพราะประเทศเราเป็นสมาชิกของกลุ่มบิมสเทค (BIMSTEC) หรือกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล ที่มีความร่วมมือด้านวิชาการและเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย พวกเราได้สูจิบัตร น้ำดื่ม และถุงคลุมรองเท้าเพิ่มมาก่อนจะตรงเข้าไปถ่ายรูปมุมต่างๆ ตั้งแต่ประตูหน้า หรือ Chowk i Jilo Khana ที่บังทัชมาฮาลไว้ซะมิด ช่วงเวลาใกล้เที่ยง อากาศไม่ร้อนมากและแดดกำลังดี ทำให้พวกเราถ่ายรูปสวยๆ มุมต่างๆ ของสุสานรัก ที่ฝังพระศพของพระนางมุมตัซ แห่งนี้อย่างไม่เสียดายฟิล์ม (เพราะไม่ได้ใช้) รวมถึงให้ช่างภาพอาชีพถ่ายรูปที่ระลึกของพวกเรากับทัชมาฮาลและอัดรูปกลับมาด้วย

ตัวทัชมาฮาลนั้นเป็นหินอ่อนทรงแปดเหลี่ยม มีโดมตรงกลางเหมือนมัสยิดทั่วไป ด้านข้าง 4 ด้านเป็นหออะซาน (Minaret) ล้อมรอบอยู่ ภายในห้ามถ่ายรูป จะเป็นที่ตั้งหีบพระศพจำลองของพระเจ้าชาห์ จาฮาน และพระนางมุมตัซ ส่วนของจริงถูกฝังอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินด้านล่าง รอบๆ หีบพระศพจำลองจะมีฉากหินอ่อนกั้นอยู่โดยที่ฉากจะมีการฝังหินสีมีค่า เช่น หยก เทอร์คอยซ์ ลาพิส เป็นลายดอกไม้อยู่ทั่วๆ การตกแต่งที่ผนังจะเป็นการฝังหินมีค่าเป็นลวดลายดอกไม้หรือทรงเรขาคณิต เรียกเทคนิกนี้ว่า เพ็ททราดูร่า (Pietra Dura) ส่วนที่ซุ้มประตูเป็นการฝังหินอ่อนสีดำในเนื้อหินสีขาวเป็นตัวอักษรคัมภีร์อัลกุรอาน เรียกว่าเทคนิก คอลลิกกราฟิก พาเนลส์ (Calligraphic Panels) ยังมีอาคารที่อยู่ข้าง ๆ ทัชมาฮาลทีสร้างจากหินทรายแดงอีกด้วย ซึ่งใช้เป็นมัสยิดและเป็นอาคารรับรอง

จนเกือบบ่าย 2 โมง เราก็กลับมากินอาหารในร้านของโรงแรมอีกครั้ง แล้วก็ต้องติดใจกับรสชาติของจ้าย (หรือใจ๋ ตามแต่จะออกเสียงแต่ละท้องถิ่น) หรือชานมร้อน ที่หวานมันจนคิดว่าชงในเมืองไทย แต่ในเมืองต่อๆ มา เราก็ยังได้เรียนรู้ว่า อินเดียนจ้าย ของแท้นั้นใส่สมุนไพรเพิ่มลงไปอีกโดยเฉพาะขิง ทำให้รสชาติชอบกล ส่วนอาหารอื่นๆ ก็เริ่มจับเค้าได้ว่า tandori คือย่าง briyani คือข้าวหมก และ masala คือแกงกระหรี่ ส่วนเนื้อสัตว์ที่จะสั่งก็เลือกเอาตามใจชอบอย่างไก่ หรือ แกะ (mutton) เนื้อหมูนั้นหายาก ส่วนเนื้อวัว คนอินเดียที่นี่นับถือศาสนาฮินดูถึง 90% ไม่กินกันเพราะถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ หลังอาหารมื้อนี้ หมอปุ้มก็เลยได้สูตรที่พอจะสลับกินได้แต่ละมื้อก็คือไก่ย่าง ข้าวเปล่า ผัดหมี่ และนานหรือโรตีที่ไม่จิ้มกับแกง แต่เอาไว้กินกับจ้าย ส่วนอีก 2 คนที่ยังรักษาสถิติแหลกไม่เลือกก็ตั้งหน้าตั้งตามองหาของแปลกกินกันต่อไป โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากแกะเนื้อเปื่อยนุ่มลิ้น

กินอิ่มแล้วหัวหน้าทัวร์ก็เลยเสนอให้เช่ารถตุ๊กๆ หรือออโต้ริกชอว์ (ถ้าเป็นสามล้อถีบจะใช้คำว่าริกชอว์ ซึ่งพวกเราไม่ใช้บริการเพราะดูจากน้ำหนักตัวแล้วสงสารคนขี่ที่ตัวเล็กกว่ามากมาย) ไปเที่ยวกันต่อ เริ่มจากเบบี้ทัชมาฮาลที่อยู่นอกเมืองก่อน โดยพวกเรายังพอมองเห็นทัชมาฮาลอยู่ลิบๆ ข้างแม่น้ำยุมนา

เบบี้ทัชมาฮาล (Baby Taj) เป็นสุสานหินอ่อนเช่นเดียวกัน แต่ขนาดเล็กกว่าและสร้างก่อนทัชมาฮาล 10 ปี ลักษณะเด่นก็คือการฝังลวดลายที่ผนังและเพดานด้วยลวดลายสวยงาม ส่วนเพดานสูงลิ่วของทัชมาฮาลนั้นเป็นสีขาวล้วนดูเรียบโล่ง

จากนั้นเราก็ไปยัง Agra fort ซึ่งเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ประจำเมือง ทำจากหินทรายสีแดง ภายในยังเป็นพระราชวังหินอ่อนขนาดย่อม มีสวนหย่อมทรงเลขาคณิต และห้องที่ตกแต่งด้วยเศษกระจกเงา และโมเสกอีกด้วย ส่วนอาคารที่มีซุ้มโค้งประตูหยักทำเป็นรูปกลีบดอกไม้ เดิมใช้เป็นท้องพระโรงให้ชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนได้ ทำจากปูนผสมเปลือกหอยมุกดูคล้ายหินอ่อน...ทึ่งกับความคิดซะจริง

เรากลับไปยังที่พักก่อนหมดวันเพื่อเล็งหาร้านอาหารบนดาดฟ้า (roof top restaurant) ที่บรรยากาศดีๆ ตามประสาคนกินบนหลังคา...ในเรือน และหาซื้อซิมการ์ดไว้โทรกลับบ้านเสียทีหลังจากมาถึงได้ 2 วัน การซื้อซิมโทรศัพท์ของที่นี่จะต้องลงทะเบียนก่อนและใช้เอกสารคือรูปถ่าย 2 รูป (คนขายทักซะอีกแน่ะว่าเป็นตำรวจหรือเปล่าพอเห็นรูปข้าราชการของเรา) สำเนาพาสปอร์ต และสำเนาวีซ่า เราไม่ได้เตรียมสำเนาพาสปอร์ตไว้เลยได้ลงทะเบียนด้วยชื่อหมอปุ้มแต่เป็นรูปถ่ายของพจ อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องไปถ่ายเอกสารวีซ่าอยู่ดี ส่วนเวลาจะเติมเงินจะต้องบอกคนขายด้วยว่าซื้อซิมมาจากเมืองไหน เพราะอินเดียเป็นประเทศใหญ่ ร้านค้าเจ้าเล็กๆ อาจเติมเงินให้ได้ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ยังไม่ทันไร ไฟฟ้าก็ดับเกือบทั้งเมือง ทำเอาพวกเราพากันเซ็งที่ต้องไปนั่งมืดๆ กันบนหลังคาโรงแรม โดยไม่มีพนักงานมาต้อนรับ หลังจากไต่บันไดลงมาชั้นล่างแล้ว พวกเราก็เลือกร้านที่โปร่งน่านั่งอยู่ชั้น 1 แทน โดยมีลูกค้าวัยรุ่นญี่ปุ่นนั่งอยู่ก่อนแล้ว อาหารที่ต้องออกปากชมในร้านนี้เห็นจะเป็นไก่ย่างรสจัดจ้านถึงเกลือถึงพริกไทย เห็นจะเป็นที่ว่าหมักแช่แข็งมาหลายวันเพิ่งจะมีลูกค้าก็วันนี้ เพราะหลังจาก 2 หนุ่มญี่ปุ่นจากไป ก็เหลือพวกเราเหมาร้านไว้แต่เพียงผู้เดียว

อากาศตอนกลางคืนเย็นลงอย่างรวดเร็ว มองเครื่องทำน้ำอุ่นที่เก่าคร่ำคร่าในห้องน้ำแล้วต้องเลือกเอาว่าจะหนาวตายหรือจะโดนไฟดูดตายดี แต่สุดท้ายแล้วความไม่เอื้ออำนวยของฝักบัวก็ทำให้เราได้ใช้กระป๋องน้ำ เครื่องมือสามัญประจำห้องพัก ในการผสมน้ำอุ่นแล้วตักอาบแบบอุ่นสบาย ส่วนห้องของจุ๋ยที่สภาพใหม่กว่า (เจ้าตัวไม่คิดจะเป็นสุภาพบุรุษแลกห้องกับผู้หญิงเลย) เจ้าของห้องคุยฟุ้งว่าอยู่สบายคุ้มราคามากๆ เพราะห่มผ้า 2 ผืนในห้อง อุ่นสุดๆ เรายกผ้าห่มที่ดูเหมือนบางให้หมอปุ้มไปอีกผืน แล้วก็กางถุงนอนที่เอามาด้วย สอดตัวเข้าไปเป็นโรลใส้หมู นอนอุ่นไม่น้อยหน้าคนอื่น

7 ก.พ. 55

วันนี้ไม่ถึงกับตื่นเช้ามากเพราะนัดแท็กซี่ไว้ 7.30 น. พวกเราเลยได้โอกาสกินหมูแท่งที่หอบหิ้วมาจากเมืองไทยเป็นอาหารเช้า เสียดายอยู่หน่อยที่กระเป๋าไม่มีที่ว่างให้ใส่กล่องข้าวพลาสติกมาด้วย จะได้สั่งอาหารใส่กล่องไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เพราะอีกอย่างที่ค้นพบก็คือ กว่าร้านรวงต่างๆ จะเปิดขายก็ปาเข้าไปเกือบ 10 โมงเช้าแล้ว

ไปถึงท่ารถได้ก่อนเวลารถออกมาก พวกเราเอากระเป๋าใส่รถแล้วก็เลยพากันกินอาหารเช้าเป็นขนมปังปิ้งกับจ้ายที่โรงแรมซากุระนั่นเอง อากาศค่อนข้างเย็นบนรถทำให้รู้ว่าทำไมช่วงเช้าถึงได้ไม่มีรถแอร์เลยเพราะมันไม่จำเป็น แต่สภาพจราจรที่รถวิ่งช้ามากๆ และบีบแตรตลอดทาง ทำเอาหวั่นใจว่าจะปวดฉี่ขึ้นมากลางทางหรือเปล่า หลังจากได้เห็นพวกผู้ชายเดินลงไปฉี่ริมถนนตอนที่รถจอดรอรถไฟ และผู้หญิงอินเดียนุ่งส่าหรีบางคนเดินดุ่มๆ เข้าไปในพงไม้อีกฟากหนึ่ง

แต่ในที่สุดรถทัวร์ก็แวะเข้าจุดพักรถ มีห้องน้ำค่อนข้างสะอาดทีเดียวให้เข้า และถ้ากินอาหารได้เร็วก็ยังมีอาหารขายอีกด้วย พวกเรากินขนมที่เอามาเองแล้วก็เมียงมองดูว่ามีอะไรน่ากินบ้างแต่ก็ไม่ได้ซื้อ พวกเรามาถึงชัยปุระเกือบบ่าย 2 โมง นั่งแท็กซี่ไปที่ Country Inn and Suites โรงแรม 5 ดาวที่ลดราคาพิเศษในอโกด้า เหลือคืนละพันกว่าบาท บรรยากาศเปลี่ยนไปทันทีที่ได้เห็นสถานที่โอ่โถงกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตามจนป่านนี้พวกเรายังไม่ได้กินอะไรที่มันเป็นชิ้นเป็นอัน และขี้เกียจเรียกแท็กซี่เข้าเมืองไปหาร้านอาหารอีก เลยเลือกฝากท้องกันที่ร้านอาหารจีนในโรงแรมนั่นเอง ถึงแม้ว่าราคาอาหารจะค่อนข้างสูง แต่รสชาติก็อร่อยใช้ได้ทีเดียว ส่วนห้องพัก 2 คืนต่อจากนี้ เรียกได้ว่าดีมากๆ แต่น่าเสียดายที่การเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองจะใช้เวลามากไปนิด ในคืนต่อมาพวกเราก็เลยไม่ได้ปรีเปรมกับการพักผ่อนมากเท่าที่ควร



ชัยปุระ (Jaipur) เป็นเมืองหลวงของรัฐราชาสถาน (Rajastan) ตั้งชื่อตามมหาราชา Sawai Jai Singh ที่ 2 โดย Jai หรือ ชัย แปลว่า ชัยชนะ ส่วนที่เรียกว่าเมืองสีชมพูเป็นเพราะครั้งที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีการทาสีทั้งเมืองให้เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจและต้อนรับเจ้าชายแห่งเวลล์ในปี 1876

บ่ายแก่ๆ พวกเราก็เรียกออโต้ริกชอว์ (Auto Rickshaw) ซึ่งใช้คำว่าตุ๊กตุ๊ก คนอินเดียก็ฟังเข้าใจ ออกไปเดินในเมืองอีกครั้ง โดยเริ่มจากประตูเมืองเก่า ซึ่งมีตลาดนัด (Bazar) แต่ตุ๊กๆ คันนี้ไปส่งพวกเราที่ตลาดเก่าขายพวกเครื่องครัวหม้อไห แทนที่จะเป็นย่านขายของพื้นเมืองซึ่งอยู่อีกด้านนึง พวกเราเดินดูของไปเรื่อยๆ แถมยังถูกพ่อค้ากำไลเชื้อเชิญให้ลองใส่ดู แต่ข้อมือใหญ่เกินมาตรฐานหญิงอย่างเรา กว่าจะยัดวงที่ 2 ได้ (ชุดนึงมีหลายวง) ก็เจ็บสุดๆ เลยเลิกลอง และกว่าจะถอดกำไลออกคืนได้ก็เสียเวลาอีกโข หลังจากนั้นเจอกำไลร้านอื่นๆ เลยไม่กล้าลองอีก เดินไปทางด้านขวาก็เจอตลาดที่ต้องการซะที คราวนี้พวกเราได้ผ้าพื้นเมือง หรือผ้าปาสมีน่า ซึ่งเป็นผ้าทอมีหลายราคาแล้วแต่วัสดุที่ใช้ ซื้อได้ 2 ผืนจนเงินเกือบหมด ก็ออกไปดูตุ้มหู สร้อยคอ ที่ร้านอื่นๆ ต่อ จนเริ่มเหนื่อย พวกเราก็กลับมาพักที่โรงแรมก่อนแล้วค่อยออกไปกินอาหารอินเดียเจ้าดัง ชื่อร้านฮานดี (Handi) เป็นร้านที่เน้นอาหารปิ้งย่าง และรสแกงไม่จัดมาก บรรยากาศดี จึงมีนักท่องเที่ยวมากินเสียส่วนใหญ่



8 ก.พ. 55



เช้านี้พวกเรากินอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์รสชาติดีที่โรงแรม ก่อนจะออกไปเช่าแท็กซี่ด้านข้างโรงแรม ได้คุณลุงที่คุยกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้างเป็นคนขับให้ หลังจากเราแวะไปจองตั๋วรถทัวร์ที่สถานีขนส่งซึ่งไม่ไกลจากโรงแรมแล้ว เราก็ไปกันที่ป้อมแอมเบอร์ (Amber fort) ที่ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ ของเมืองชัยปุระ ซึ่ง Amber นั้นเคยเป็นเมืองหลวงเดิมก่อนจะย้ายมาวางผังเมืองใหม่เป็นชัยปุระ ระหว่างทางเราเห็นนักท่องเที่ยวนั่งช้างขึ้นไปที่ป้อมดูน่าสนุก แต่ไม่ได้บอกลุงคนขับไว้ ลุงก็เลยขับรถขึ้นเขาพาเราไปส่งจนถึงประตูด้านบน...อดซึมซับความรู้สึกแบบมหาราชาเลย

จากนั้น พวกเราก็ไปผจญภัยภายในป้อมที่ประกอบด้วยศาลาว่าราชการหินทรายสีแดงและพระราชวังหินอ่อน มีลวดลายดอกไม้ ติดกระจก กระเบื้องสีตามเพดานและประตู โดยถ่ายรูปกับมุมโน้นมุมนี้ ไม่ได้สังเกตเลยว่าทางซอกเล็กซอกน้อยที่มากมายเหล่านั้น ไม่มีป้ายบอกทางให้ จนเวลาผ่านไป เราถึงได้รู้สึกว่านักท่องเที่ยวชักจะบางตา บางตรอกที่ต้องเดินไปก็ทั้งแคบและมืด เริ่มนึกถึงประโยชน์เมื่อเจอกรุ๊ปทัวร์ชาวไทยและชาวจีนที่จะส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวให้รู้ว่าเป็นเส้นทางหลักก็คราวนี้ แต่อย่างไรก็ดี พวกเราเดินวนเวียนไปมาจนเจอทางออกจนได้ ด้านทางออกจะมีร้านขายของที่ระลึกให้เราซื้อโปสการ์ดและแสตมป์ มีโชว์เป่าปี่เรียกงู และภาพวาดอื่นๆ หลังจากนั้นก็กลับกันมาที่รถ

ลุงคนขับชวนพวกเราไปดูร้านขายของสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ก็ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเรายังมีเป้าหมายอื่นอีกหลายที่ เลยบอกให้ลุงพาไปที่พระราชวังในน้ำ ป้อมจัยกร้า (Jaigarh fort) และป้อมนาฮาการ์ (Nahargarh fort) ต่อ เห็นลุงเลี้ยวไปอีกทางที่ไม่ใช่พระราชวัง พวกเราก็เลยทักท้วง แต่ฟังกันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แล้วค่อยถึงบางอ้อว่าที่จริงแล้วป้อมจัยกร้าอยู่ใกล้กับป้อมแอมเบอร์มากกว่า แทบจะเรียกได้ว่ามีแนวกำแพงต่อกันไปเลยก็ว่าได้ โดยที่นี่จะมีปืนใหญ่ (Jaivan) หนักถึง 50 ตัน ตั้งเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวดูโดยต้องเสียค่ากล้องถ่ายรูปต่างหาก จากนั้นพวกเราก็เดินเที่ยวไปตามกำแพงที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นชัยปุระได้ทั้งเมืองและที่นี่ก็ยังมีกำแพงสีชมพูให้รู้ว่ามาถึงเมืองสีชมพูชัยปุระซะที



ส่วนป้อมที่อยู่ติดๆ กันก็คือป้อมนาฮาการ์ หรือ Tiger fort ที่ตัวอาคารส่วนใหญ่จะเน้นสีเหลือง และมีซอกเล็กซอกน้อยมากมายให้เดินหลงจนเหนื่อย



พวกเราแวะถ่ายรูปพระราชวังกลางน้ำ (Jal mahal) แป๊บเดียวก็ไปกินข้าวกันต่อ อาหารมื้อนี้เป็นแนวรสไม่จัดสำหรับนักท่องเที่ยวอีกแล้ว แต่ก็อร่อยดี พวกเรากินจนคุ้มกับพลังที่เสียไปตอนเดินในป้อม แล้วลุงก็จอดข้างถนนให้ถ่ายรูปกับพระราชวังสายลม (Hawa mahal) รูปทรงมงกุฎพระนารายณ์สีขาวอมส้ม ที่เต็มไปด้วยหน้าต่าง จุดประสงค์ก็คือมีไว้ให้เหล่าสนมของมหาราชาได้ดูชีวิตชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะมองขึ้นมาไม่เห็นนักถ้ำมองเหล่านั้น พวกเราเลือกไม่เข้าไปข้างในเพราะเป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว น่าจะไปกันที่ City palace ซึ่งจะปิดตอน 5 โมงเย็นมากกว่า



ที่ City palace มีพิพิธภัณฑ์ Sawai Man Singh ที่จัดแสดงชุดโบราณและวิถีนักรบของชาวชัยปุระ ส่วนตัวพระราชวังนั้นเป็นสีชมพู จุดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นซุ้มประตู (Peacock gate) ที่วาดภาพตกแต่งเป็นรูปนกยูงอย่างสวยงามแบ่งเป็น 4 ประตู 4 ฤดู คือฤดูฝนเป็นประตูรูปนกยูงสีเขียวหลายตัว ฤดูร้อนเป็นประตูรูปดอกบัว ฤดูหนาวเป็นรูปดอกไม้สีชมพูปนม่วง และฤดูใบไม้ผลิสีเขียวตองอ่อน พวกเราพากันไปถ่ายรูปประตูฤดูร้อนอยู่เป็นนานจนพอใจแล้วจึงได้กลับออกมา

ก่อนจะหมดวัน เราให้ลุงคนขับพาพวกเราไปซื้อผลิตภัณฑ์หิมาลายา Himalaya ที่เป็นเครื่องสำอางของอินเดีย บนถนน MI ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองชัยปุระ เส้นเดียวกับที่ผ่านหน้าโรงแรมที่พัก แต่ก็ยังหลงทางวนไปวนมาหลายรอบในที่สุดก็มาถึงร้านจนได้ ของฝากที่ซื้อจากเมืองนี้แต่ละวันทำเอาพวกเราต้องใช้เงินดอลล่าร์แลกเป็นรูปีรายวันเลยทีเดียว บอกลาคุณลุงในตอนเย็นแล้ว เราก็เดินถ่ายดอกไม้สวยๆ ในโรงแรม พักผ่อนกันเล็กน้อยก่อนจะออกไปเรียกตุ๊กๆ พาไปกินอาหารที่ร้าน Niros อีกร้านที่หนังสือท่องเที่ยวแนะนำ กลับมาแวะซื้อไก่ย่างเจ้าดังร้าน (Talk of the town) ฝั่งตรงข้ามโรงแรมที่คนรอซื้อกันเยอะมากเพื่อใช้เป็นเสบียงในวันพรุ่งนี้

เช้านี้ลุงมารับก่อนเวลาซะอีก ทั้งที่ไปสถานีขนส่งแค่ 10 นาทีก็ถึง เราเลยต้องรอรถเที่ยว 6.30 ที่ออกเลยเวลาไปเกือบ 15 นาที ท่ามกลางลมหนาวในห้องรอของผู้โดยสาร หลังจากนั้นรถ VIP ก็พาเราไปต่อยังเมืองโยธปุระ (Jodpur) สภาพรถที่ดีกว่าเมื่อคราวก่อน ทำเอาเราคาดหวังว่าจุดพักรถจะดีตามไปด้วย แต่จุดแรกที่รถจอดให้กลับเป็นห้องน้ำสาธารณะ ยังดีที่เราพุ่งตัวลงจากรถไปก่อนจึงได้เจอห้องน้ำที่ยังไม่มีใครใช้ (ในวันนี้) แต่ในคอห่านมีคราบเก่าของคนท้องเสียแห้งกรังเต็มไปหมด หมอปุ้มเดินเข้าไปดูแล้วทำหน้ายี้ ส่วนเราอาศัยว่าดีกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็เลยไม่สนใจอะไรนัก ฉี่ต่อโดยไม่ราดน้ำ (เพราะไม่มีน้ำ) ที่จริงแล้วห้องน้ำหญิงมีอีกห้องซึ่งไม่มีประตู ลองเดินไปดูแล้วเห็นเป็นพื้นปูนล้วนๆ และท่อระบายน้ำเท่านั้น ไม่มีคอห่าน ถ้าจะให้เปรียบกับห้องน้ำชายคงประมาณห้องสำหรับถ่ายเบากับถ่ายหนักละมั้ง เห็นแหม่มที่มาด้วยกันทำกล้าๆ กลัวๆ ไปเข้าต่อแล้วก็คิดว่าสำหรับคนไฮโซที่จะมาเที่ยวอินเดียคงต้องทำใจกันหน่อยล่ะ

กลับขึ้นไปบนรถก็ถามจุ๋ยว่าทางห้องน้ำชายเป็นไงบ้าง จุ๋ยบอกว่าไปยืนฉี่ข้างห้องน้ำ พอเห็นเพื่อนทำหน้างง เลยเฉลยต่อว่าก็ประตูห้องน้ำมันล๊อกทุกคนก็เลยต้องไปยืนวัดขนาดกันข้างๆ นั่นแหละ อีก 2 ชั่วโมงถัดมาก็ถึงจุดพักรถคล้ายๆ กับที่เคยแวะ คือมีอาหารง่ายๆ ให้สั่งกินได้ แต่กระเหรี่ยงไทยทั้ง 3 ได้โอกาสแกะห่อไก่ย่างมาถือกินกันข้างๆ รถอย่างเอร็ดอร่อย ไม่สนใจคนมองว่าใครจะหิว หรือใครจะเป็นมังสวิรัติ ฮิ ฮิ

ถึงโยธปุระเอายามบ่ายเช่นเคย พวกเราเข้าไปแวะซื้อตั๋วรถที่สถานีขนส่งของรัฐบาล (Central bus stand) ที่รถจอดเพื่อไปอุทัยปุระ (Udaipur) ก่อน แต่สภาพรถที่เห็นแต่ละคันเหมือนกับรถอ้อมใหญ่ใช้งานมากว่า 50 ปีแล้ว ทำเอาใจแป้วว่าพรุ่งนี้ต้องขึ้นรถแบบนี้ไปหรือ? ดูเหมือนรถจะจอดทุกป้ายและอาจมีเอาสัตว์พวกแพะพวกวัวขึ้นได้ด้วยนะนี่ แต่เข้าไปคุยกับที่จองรถอยู่นานกว่าจะรู้ว่าไม่ต้องจองตั๋ว วันพรุ่งนี้มาซื้อแล้วขึ้นรถได้เลย เราจึงได้ให้รถตุ๊กๆ ไปส่งโรงแรมในย่านเมืองเก่า



บ้านเรือนในย่านเมืองเก่าปลูกติดๆ กัน จนแทบจะใช้ฝาบ้านร่วมกัน และตรอกที่ทำไว้สำหรับเดินเท้า ทำให้รถตุ๊กๆ ผ่านเข้าไปลำบาก แต่เมื่อไปถึง Juna mahalโรงแรมบูติก ที่แบ่งเป็นห้องเล็กๆ เล่นระดับต่างๆ กัน และตกแต่งได้น่ารักก็ทำเอาสดชื่นขึ้นมาหน่อย เดินออกมาจากโรงแรมนิดเดียวเราก็ยิ่งสดชื่นยิ่งขึ้นเมื่อเจอร้านขนมหวานเรียงกัน และไม่หงุดหงิดที่แก๊งชาวต่างชาติจะจิ้มกระจกตู้โชว์เลือกขนมชิ้นโน้นชิ้นนี้อย่างมีความสุข เวลาคิดเงินก็ยิ่งประหลาดเมื่อเขาใช้ชั่งเอา พวกเราเดินไปตามทางเพื่อเข้าประตูอีกด้าน (Fateh pole) หนึ่งใน 7 ประตูของป้อมเมลังการ์ (Mehrangarh fort) ป้อมใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่เชื่อมต่อกับย่านเมืองเก่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนขาวจะเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ เพราะจุ๋ยเดินไปทางไหนก็มีเด็กๆ เดินล้อมหน้าล้อมหลัง คนไหนกล้าๆ หน่อยก็เข้ามาจับแขนดู ประมาณว่าคนหรือนี่?

หลังจากซื้อตั๋วสำหรับคนและกล้องถ่ายรูปแล้ว เราก็รีบเลือกวิธีขึ้นป้อมด้วยลิฟท์ แบบบอกว่า พจใช้เงินส่วนตัวจ่ายก็ได้นะ 20 รูปี ส่วนคนอื่นถ้าจะเดินขึ้นป้อมที่สูง 400 ฟุตก็ได้ เดี๋ยวเราไปเจอกันข้างบน คนที่เหลือเลยไม่มีโอกาสตัดสินใจ ขึ้นลิฟท์ตามกันไปแต่โดยดี



วิวด้านบนป้อมมองเห็นเมืองเก่าที่ทาสีฟ้าเกือบทั้งเมือง ค่อยสมกับชื่อเมืองสีฟ้า ที่แต่เดิมทาเพื่อกันแมลงและให้รู้สึกเย็นตาจะได้ไม่ร้อนจากอากาศกันมากนัก ภายในป้อมก็คล้ายๆ กับที่อื่น คือ มีซุ้มประตู ผนังเขียนลาย แต่ที่นี่จะมีที่ประทับของมหาราชาและพระมเหสีด้วย ซึ่งแต่ละห้องจะตกแต่งอย่างสวยงาม โดยเฉพาะพูลมาฮาล (Phool mahal) ที่ตกแต่งเพดานและผนังห้องด้วยสีทองแสบตา มีลวดลายดอกไม้ประดับ ส่วนตำหนักไข่มุก (Moti mahal) ผนังเป็นปูนบดผสมกับเปลือกหอยมุก หน้าต่างใช้กระจกสีสดใส เวลาจุดเทียนตอนกลางคืนน่าจะสวยมาก มีเบาะขนาดใหญ่และหมอนอิงวางบนพื้นคล้ายจะเป็นห้องนั่งเล่นสำหรับมเหสี รายรอบด้วยเบาะเล็กๆ ที่อาจจะเป็นของนางกำนัลหรือสนม ให้บรรยากาศพวกผู้หญิงที่จะมานั่งเม้าท์แตกกันอยู่ในห้องได้เป็นอย่างดี แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นที่หารือข้อราชการของมหาราชากับข้าราชบริพารระดับสูงไปซะนี่



กลับลงมาที่ด้านล่างจะมีร้านขายของที่ระลึกพวกเสื้อผ้า พรม และของกระจุกกระจิกแต่งบ้าน จุ๋ยซื้อชุดตุ๊กตามหาราชาเป็นเปเปอร์มาเช่ที่เจ้าของร้านคุยเก่งมาก และก็เปิดโอกาสให้พวกเราถ่ายรูปสินค้าที่เขาทำขึ้นเองอย่างภาคภูมิใจ พวกเราแวะร้านน้ำชาบรรยากาศดีชื่อ Café Mehran ในป้อมก่อนจะเดินกลับไปยังโรงแรม ยังแวะซื้อองุ่นดำราคากิโลละ 80 บาท ที่หวานอร่อย ก่อนจะให้ทางโรงแรมช่วยจองตั๋วรถทัวร์ให้

ทีแรกเรากะว่าจะเดินไปที่หอนาฬิกาที่อยู่ในเขตเมืองใหม่ไม่ไกลนัก แต่ตรอกที่เต็มไปด้วยร้านขายของเหมือนตลาดผ้าในนครปฐม ทำเอาเรางงและเดินไม่ถึงซักทีเลยได้แต่ถอดใจเดินกลับมาตั้งหลักที่โรงแรมอีกครั้ง แต่อาหารโรงแรมที่มีแต่อาหารเบา เช่น โรตี ออมเลต ทำให้เราเดินไปเรียกตุ๊กๆ ออกไปหาร้านที่หนังสือแนะนำกันอีกครั้ง คราวนี้พ่อหนุ่มขับรถตุ๊กๆ ไม่รู้จักร้านอาหารที่โรงแรม Haveli พาไปผิดที่วนไปวนมาจนเกือบ 2 ทุ่ม ในที่สุดก็ปล่อยพวกเราไว้ในที่มืดเชียว ดีที่เจอตุ๊กๆ อีกคันบอกทางให้เดินต่อไปอีกไม่ไกลนัก

เราเจอแก๊งคนไทยที่ร้านนี้ด้วย ดูท่าแล้วน่าจะพักที่นี่ แต่เนื่องจากเขากินกันเสร็จแล้ว ก็เลยไม่ได้ทักทายอะไรกัน จากเมนูอาหารส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ เราก็เลยเลือกเซตที่น่าจะอร่อย เรียกว่า ดาลบาตีโชมา (Dhal Bati Chauma) แต่แกงถั่วบดปนกับข้าวหวานๆ คลุกน้ำตาลกับเนย ที่กินแล้วมองหน้าจุ๋ยที่สั่งเหมือนกันทำนองว่านี่อาหารคนป่าววะ ทำเอาผัดหมี่ของหมอปุ้มอร่อยขึ้นมาทันที ถึงอาหารจะห่วยแต่บรรยากาศ roof top ของที่นี่มองเห็นป้อมเมรังการ์ได้ชัดเจนทีเดียว

กลับถึงโรงแรมอีกครั้ง พนักงานบอกว่ารถทัวร์เที่ยวที่เราจะไปนั้นไม่มีเลยไม่ได้จองให้ แต่เขาแนะนำรถทัวร์ของเอกชนที่จะไปอุทัยปุระ สภาพดีกว่ารถที่สถานีขนส่งมาก ถ้าพวกเราจะไปเขาจะจองให้ ซึ่งพวกเราก็ไม่ปฏิเสธและบอกให้เรียกตุ๊กๆ มารับในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วย

9 ก.พ. 55

วันนี้พวกเราก็ออกแต่เช้ากันอีกเช่นเคย รถมารับตามเวลาและไปส่งพวกเราที่ห้องแถวที่คล้ายๆ จะเป็นคิวรถ มีฝรั่งรออยูแล้ว 4 – 5 คน พวกเรายื่นใบจองให้ดู และรออยู่ครู่หนึ่งตามที่เขาบอก แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลารถมา คนที่คิวรถโทรถามแล้วก็มีปัญหาบางอย่าง จึงได้เรียกพวกเราไปชี้แจงว่าต้องเปลี่ยนรถเป็น sleeping bus “แต่ว่าอีนี่ฉ๋านไม่ได้ชาร์ตเงินเพิ่มนะนาย” เท่าที่จับใจความได้เขาบอกว่าเราได้ที่นั่งติดกระจก 2 ที่ด้วย แต่หลังจากนั้นพวกเราต้องเสียค่ารถตุ๊กๆ ต่อไปตรงที่รถจะจอดซึ่งอยู่ไกลกัน เราเลยต้องเสียค่ารถเพิ่ม แต่ฝรั่งกลุ่มที่ตามมาค่อนข้างเขี้ยว เขาเถียงกับคนขับตุ๊กๆ ว่าก็ในเมื่อคุณเรียกค่าโดยสารแบบแล้วแต่จะให้ (As you like) ดังนั้นตูก็ให้ 20 รูปี ซึ่งคนขับตุ๊กๆ ก็เลยโวยวาย (ส่วนคันที่พวกเรานั่งให้ไป 100) และพอโวยวายมากเข้า นายฝรั่งคนนั้นก็เลยไม่ให้ซะเลย ร้อนถึงคนอยู่ที่คิวต้องถูกตามมาคุย พอรถมา กลุ่มฝรั่งก็ไม่สนใจเอากระเป๋าไปใส่รถ ส่วนพวกเราก็เอาเลขที่นั่งไปให้คนรถดู ปรากฎว่าเป็นที่นอนอยู่ชั้นบน 2 ที่ ให้นั่งกันไป 3 คน คราวนี้จุ๋ยก็เลยทำเข้มโวยวายบ้าง แต่ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเขาบอกว่าพื้นที่ของพวกเราเท่ากับเบาะนั่งข้างล่าง 4 ที่เลยนะ ส่วนฝรั่งกลุ่มนั้นรู้สึกจะได้นั่งด้านหลังรถ

ถ้าคิดในแง่ดีแล้วถือว่าพวกเรามีที่นั่งขัดสมาธิกันเป็นสัดส่วนและดูวิวได้ชัดเลยทีเดียว มีกระจกกั้นจากช่องทางเดินไม่ให้คนที่ขึ้นมาขายของตอนรถจอดมากวนใจอีกด้วย โดย sleeping bus ของอินเดีย ชั้นล่างจะเป็นเบาะนั่ง ข้างหนึ่ง 2 เบาะ อีกข้างเป็นเก้าอี้เดี่ยว ส่วนชั้นบนเป็นเบาะนอน ด้านที่มีเก้าอี้ 2 จะเป็นเบาะนอนคู่ ส่วนอีกด้านจะเป็นที่นอนเดี่ยว มีบันไดขึ้นจากบนหัวคนนั่ง...ป่าว จากพนักเก้าอี้นั่ง แต่เมื่อถึงจุดพักรถก็ขึ้นลงลำบากพอได้เลยทีเดียว ห้องน้ำที่จุดพักรถนี้พอใช้ได้ และผ่านมาหลายครั้ง ห้องน้ำหญิงไม่ต้องรอนาน นั่นเป็นเพราะว่าผู้หญิงอินเดียไม่ค่อยเดินทางไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวด้วยกันซะมากกว่า ตามสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ค่อยมีผู้หญิงให้เห็น ไม่รู้เป็นเพราะว่าค่านิยมที่ผู้หญิงต้องทำงานในบ้าน หรือหาห้องน้ำเข้ายากก็ไม่รู้

รถจอดนานทีเดียว จนพวกเราเข้าไปดูขนมก้อนกลมที่ทำจากแป้งทอดเหลืองกรอบอยู่ในกระทะ ทอดเสร็จก็ใส่จานแล้วเอาน้ำอะไรสักอย่างราด มีคนยืนกินอยู่รอบๆ พอพวกเราตัดสินใจจะสั่งกินบ้าง รถก็ติดเครื่องเตรียมจะออกพอดี

ผ่านพื้นที่แห้งแล้ง จนขึ้นเขามาได้ เราก็มาถึงเขตเมืองอุทัยปุระ กำแพงเมืองสร้างอย่างแข็งแรงเพราะนอกจากจะใช้เป็นรั้วของเมืองแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย ความสูงที่ลดหลั่นขึ้นๆ ลงๆ ของกำแพงนั้นยังมีตัวอาคารปลูกอยู่เรียงราย รวมทั้งยังมีซอกเล็กซอกน้อยให้ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าได้ขึ้นไปเดินเที่ยวเหมือนในเกม RPG จะสนุกแค่ไหน ผ่านไปอีกราวครึ่งชั่วโมง รถถึงได้จอดในตัวเมืองที่ดูเจริญ ต่างกับชุมชนที่อยู่นอกกำแพงเมืองอย่างเห็นได้ชัด หลักฐานก็คือกระเป๋าลากที่อยู่ท้ายรถบัสของพวกเราเต็มไปด้วยฝุ่นเกาะอย่างหนา

พวกเราพึ่งบริการแท็กซี่ที่หาได้ง่ายจากนั้นก็ไปโรงแรม Anjani ที่ตกแต่งสวยงามอีกแห่ง โดยต้องเดินขึ้นเนินไปอย่างไม่ลำบากเท่าไร จากโรงแรม เราพอจะมองเห็นวิวทะเลสาบขนาดใหญ่ของเมือง และเดินลงมาตรงที่รถแท็กซี่จอดก็ยังใกล้กับร้านขายของที่ระลึก รวมถึง City palace อีกด้วย พวกเราหาอาหารเที่ยงกินกันเมื่อบ่ายคล้อยกันอีกครั้ง ก่อนจะเดินเล่นรอบๆ แวะซื้อเค้กกล้วยหอมเจ้าอร่อยร้าน German bakery และของที่ระลึกอีกเล็กน้อย จนถึงเวลาดูการแสดงพื้นเมืองที่ Bangore Haveliใน City palace



การแสดงเริ่มจากการเต้นรำประกอบเพลง ระบำที่ใช้ฉิ่งติดตามร่างกายแล้วตีให้เป็นจังหวะ แล้วค่อยเริ่มสนุกกับการเชิดหุ่นกระบอกที่เวลาเดินมีเสียง แอ่ดๆ เหมือนคนไขข้อไม่ดี และหุ่นกระบอกที่ถอดหัวไปต่อที่แขนขาได้ สุดท้ายก็เป็นการโชว์เต้นระบำเทินหม้อขนาดใหญ่ ที่คุณป้าค่อยๆ เพิ่มทีละ 3 ชั้นจนเป็น 9 ชั้นและยังกระโดดโลดเต้นได้อย่างชำนาญ นอกจากนี้พวกเรายังเจอแบ็คแพ็คชาวไทยเหมือนกันอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

10 ก.พ. 55

วันนี้เราให้ทางโรงแรมจ้างรถตุ๊กๆ สำหรับเที่ยวชมเมือง และแท็กซี่ที่จะพาเราไปส่งที่สนามบินในตอนเย็นไว้ให้ จากนั้นตุ๊กๆ ก็พาเราไปที่ Musical fountain มีน้ำพุที่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกดันน้ำจากทะเลสาบให้พุ่งขึ้นมาจนเป็นละอองฝอยมองเห็นรุ้งกินน้ำพาดผ่านอย่างสวยงาม ด้านข้างมีกระเช้าข้ามไปอีกภูเขาให้ชมวิวทั้งเมืองได้ทั่วๆ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีคนนิยมนัก เพราะนอกจากพวกเราแล้วก็เห็นมีแต่เด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

เมื่อพวกเราไม่แวะดูพิพิธภัณฑ์รถโบราณ คนขับก็พาเราไปที่สุสานมหาราชา สร้างคล้ายสถูปขนาดใหญ่ทาสีขาว บรรยากาศวังเวงเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว มีแค่ยามที่นัดแฟนมาพรอดรักกันคอยเฝ้าอยู่เท่านั้น พวกเราเดินลุยหญ้าเข้าไปจนถึงข้างใน เมื่อเห็นว่าไม่มีอะไรก็กลับออกมา จากนั้นก็ไปแวะวัดฮินดู ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเมือง แต่วัดก็กำลังก่อสร้าง และไม่ให้ถ่ายรูป มีแต่เทวรูปพระอิศวรให้นมัสการเท่านั้น จากนั้นพวกเราก็ไปที่ตลาดเครื่องเทศ (Mandi market) ซึ่งมีสมุนไพรแปลกๆ น่าสนใจดีที่เดียว ถ้าไม่ติดว่าคนขายพยายามขายอย่างหนักแล้ว เราคงเข้าไปชี้ถามว่านี่อะไร นั่นอะไร โน่นอะไร และได้ความรู้มากขึ้นทีเดียว แต่ตลาดผลไม้ที่พบต่อมาก็ทำให้เราได้ทับทิมลูกใหญ่มาก กับองุ่นดำ มากินกันอีก

Saheliyon-ki-Bari หรือ Garden of the Maids of Honour สวนที่พวกเราไปแวะต่อมีน้ำพุอยู่ตรงกลางเป็นจุดเด่นอยู่ที่เดียว นอกนั้นพันธุ์ไม้ต่างๆ เรียกได้ว่าน้อยมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังน่าแปลกใจที่มีร้านขายของแบกับดินอยู่ตรงทางเข้าด้านหน้ามากทีเดียว

หลังกินข้าวแล้วทัวร์ก็จบเร็วกว่าที่คิด เพราะตุ๊กๆ พาพวกเราไปส่งที่ทางเข้า City palace ซึ่งทีแรกเราก็นึกว่าจะได้นั่งเรือไปที่พระราชวังกลางน้ำ (Lake palace) ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาวในทะเลสาบ Pichola แต่ปรากฎว่าในวันนี้ไม่มีเรือออกเสียแล้ว พวกเราเลยได้แต่เข้าไปชมพระราชวังของเมืองสีขาวของราชวงค์ Mewar ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เมืองอื่นๆ และมีนักท่องเที่ยวหนาตาทีเดียว เดินถ่ายรูปกันแบบบ้ากล้องกันอีกเช่นเคย ตามห้องสวยๆ ภายในพระราชวังที่เน้นตกแต่งด้วยกระจกสี ก่อนจะเผื่อเวลาซื้อย่ามอินเดียสีเจ็บๆ กลับมาฝากเพื่อนฝูง

พวกเราอำลาเมืองอุทัยปุระเมื่อยามบ่ายแบบค่อนข้างประทับใจ ระหว่างรอเครื่องบินของ Kingfisher สายการบินในประเทศ เราก็ควักทับทิมที่เนื้อในสีแดงเข้ม และรสชาติหวานหอมออกมากินอย่างอร่อย ก่อนจะเหินฟ้ามุ่งหน้ากลับเดลีเมืองหลวง เรื่องตลกอีกอย่างก็คือแทนที่รถบัสจะมารับผู้โดยสารจาก gate ไปที่เครื่อง กลายเป็นว่าพอรถบัสเที่ยวแรกแล่นออกไปแล้ว ผู้โดยสารที่เหลือ รวมทั้งพวกเราด้วย ต้องเดินไปขึ้นเครื่องกันเอาเอง นับเป็นประสบการณ์แรกที่ได้เดินเล่นอยู่ในผิวจราจรของสนามบิน



คุยกันไว้อย่างดีว่าให้โรงแรมที่จะพักคืนนี้ส่งรถมารับพวกเราด้วย แต่เดินออกมาจากอาคารผู้โดยสาร มองแล้วมองอีกก็ไม่เห็นว่าจะมีใครชูป้ายชื่อผู้จัดการของเรา จุ๋ยก็เลยไม่ได้สนใจ เรียกแท็กซี่กลับมาที่โรงแรม หลังจากคนขับที่ไม่รู้ทาง จอดถามทางดูแล้ว เราก็มาถึงโรงแรมจนได้ พอเช็คอินเสร็จ เราก็โดนพนักงานตัวเตี้ย ตาขวาง หน้าคล้ายๆ PK บ่นว่าคนขับโทรมาบอกว่ารอพวกเราอยู่หลายชั่วโมง ซึ่งเราก็โต้กลับไปเหมือนกันว่า พวกกรูก็เดินหาอยู่นานเหมือนกันไม่เห็นมีใครชูป้ายชื่อนี่หว่า

ห้องพักของพวกเรามีตู้ปลาอยู่ด้านในด้วย แต่ระบบจ่ายน้ำร้อนค่อนข้างแปลกเพราะต้องโทรแจ้งให้เปิดน้ำอุ่นผ่านเข้ามาในห้องด้วย เหน็ดเหนื่อยกันพอสมควรแล้วพวกเราก็ขึ้นไปกินอาหารชั้นดาดฟ้าของโรงแรม ก่อนจะตกลงกันว่าอาหารเช้าก็มากินกันที่เดิมเถอะ เพราะเส้นทางที่รถผ่านมาดูไม่ค่อยน่าปลอดภัยหากจะเดินไปหาอะไรกินกันยามเช้า

11 ก.พ. 55

เช้านี้เราได้อาบน้ำก่อนใครเหมือนเคย เลยบอกเพื่อนๆ ว่าจะไปสั่งอาหารเช้ารอ เสร็จแล้วค่อยตามกันขึ้นไปจะได้ไม่เสียเวลา แต่หลังจากสั่งเสร็จ ไปเดินถ่ายรูป และเขียนโปสการ์ดถึงเพื่อนๆ จนเสร็จแล้ว อาหารก็ไม่มาซะที เราเรียกพนักงานมาย้ำอีกที ก็หายต๋อม จนคนอื่นๆ มากันแล้วก็ยังไม่ได้ เลยชักโมโหหิว แต่ก็เห็นว่ามีอาหารเช้าบางส่วนที่เอาไปส่งถึงห้องพัก เลยต้องหันความสนใจมาคุยกันว่าเราจะไปไหนกันดีในวันนี้

เก็บของเสร็จและลงมาเช็คเอ้าท์และเตรียมฝากกระเป๋า ปรากฏว่าทางโรงแรมคิดค่าแท็กซี่ไปรับที่สนามบินด้วย ทางเราก็เถียงว่าไม่ได้ไปรับ ส่วนทางนั้นก็บอกว่าคนขับไปรอที่ terminal 3 อยู่นานมาก ซึ่งที่จริงแล้วเครื่องบินเที่ยวในประเทศจะลงที่ terminal 1 ต่างจากใบจองที่ระบุ terminal 3 เพราะฉะนั้นตอนที่จองโรงแรมและระบุให้ส่งรถไปรับเราจึงได้ระบุเวลาเที่ยวบินและ terminal 3 ตามใบจองตั๋วเครื่องบิน ดีที่เรายังมีสำเนาตั๋วเครื่องบินอยู่ จึงได้บอกกับเขาว่าการที่เราระบุผิดนั้นเป็นเพราะว่าเขียนตามใบจองซึ่งเราเองก็ไม่ใช่คนอินเดีย จะไปตรัสรู้ได้ยังไงว่าเครื่องบินมันจะจอดที่ไหน

พักยกกันพักหนึ่ง ลุงที่ดูจะเป็นเจ้าของโรงแรมหรือว่าเป็นผู้จัดการก็ยอมให้พวกเราไม่ต้องจ่าย จุ๋ยก็ขอบใจแต่ก็บอกจากใจจริงว่าบริการที่เราได้รับก็ยินดีจ่ายอยู่แล้ว และเช้านี้พวกเราก็ยังจะเหมาแท็กซี่ที่เป็นบริการของโรงแรมไปเที่ยวและส่งที่สนามบินอีกด้วย ทุกอย่างก็จบด้วยดี และดียิ่งขึ้นที่วันนี้เตี้ย PK ประจำอยู่ที่โต๊ะแลกเงิน ไม่ใช่โต๊ะแท็กซี่บริการของโรงแรม

แท็กซี่พาเราไปวัดลักษมีนารายัน (Laxmi Narayan Mandir) วัดฮินดูที่ทาสีแดงขอบขาว ดูสวยดีเป็นที่แรก หลังจากงงหาทางเข้าอยู่เป็นนาน พวกเราก็ได้ถอดรองเท้าขึ้นไปเหยียบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูอีกแห่ง ด้านบนของวัดมีอาศรมที่มีรูปปั้นเทพเจ้าอยู่ ชาวศิลปากรก็เดินไปไหว้พระพิฆเณศวร์เป็นอันดับแรก เห็นพราหมณ์ที่น่าจะเฝ้าอยู่กวักมือเรียก เราก็เลยเดินเอ๋อๆ เข้าไปหา เขาก็เจิมสีแดงที่หน้าผากให้จุดหนึ่ง ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ 2 คนที่เหลือรีบชิ่ง ไม่ยอมไปแต้มด้วยกัน มารู้ทีหลังว่าคนนิยมอธิษฐานกับพระพิฆเณศวร์ศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ เลยชักเสียดายที่ไม่ได้ร่างคำขอ 10 หน้ากระดาษ A4 เตรียมมาด้วยง่ะ

เดินดูรูปปั้นรอบๆ วัด และมีพระพุทธเจ้าด้วยส่วนหนึ่ง เราก็เลยถือโอกาสไหว้พระที่อินเดียได้ซะที เพราะตอนที่บอกใครๆ ว่าไปอินเดีย ทุกคนก็จะพากันคิดเอาเองว่าไปไหว้พระ แถมยังมองกลับมาอย่างงงๆ ว่าหน้าอย่างเนี้ยนะจะไปเที่ยวไหว้พระ?



รถวิ่งอีกนานเหมือนกันกว่าจะถึงป้อมแดง หรือ Red fort ป้อมขนาดใหญ่ที่สร้างจากหินทรายสีแดงในเขตเมืองเก่า (Old Delhi) แท็กซี่ก็ถามว่าจะหยุดให้ถ่ายรูปไหม พวกเราก็งงว่าแล้วจะไม่พาเข้าไปหรือไง เลยยืนยันกันว่าเข้าไปดูข้างในด้วย เขาก็ทำหน้าแปลกๆ แต่ก็เอารถไปจอดในลานจอดรถให้พวกเราเดินเข้าไปจนถึงบางอ้อว่า คนล้านแปดที่เข้าคิวซื้อตั๋วในวันอาทิตย์คงทำให้เราตกเครื่องบินแน่ กว่าจะได้ตั๋ว และกว่าจะดูเสร็จ พวกเราเลยได้แต่ถ่ายรูปกันด้านหน้า และจะเดินไปที่มัสยิดจามา (Jama Masjid) ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เห็นอยู่ลิบๆ แต่ดูแล้วจะไกลมากก็คงไม่ไหว เลยได้แต่เดินเลาะรั้วของป้อมแดงมองดูตลาดนัดขนาดใหญ่ฝั่งตรงข้าม หรือตลาด Chandni Chowk และก็ซื้อขนมทอดราดน้ำสีขาวๆ คล้ายโยเกิร์ต กินกัน กะว่าถ้าท้องเสียก็ได้กลับมาเข้าห้องน้ำที่เมืองไทยแล้วล่ะ

เอ๋เขียนในบันทึกท่องเที่ยวไว้ว่ามีวัดฮินดูวัดใหญ่อีกแห่งที่สวยงามน่าเข้า พวกเราก็เลยให้แท็กซี่พาไปอีก เหมือนเดิมที่แท็กซี่จอดให้ดูวิวของวัดจากถนนด้านบนแล้วถามพวกเราว่าจะลงไปถ่ายรูปไหม พวกเราก็ยังยืนยันว่าจะไปที่วัดอักชาร์ดัม (Akshardham) และก็อีกครั้งที่เจอคนล้านแปดตรงทางเข้าให้อ่อนใจ คราวนี้จะถ่ายรูปวัดก็ได้แต่ชูกล้องขึ้นไปให้ถ่ายติดบางส่วน ไม่เห็นทั้งหมดเหมือนวิวที่ถนนอีกต่างหาก

หลังจากนั้น พวกเราไปที่วัดบาไฮ หรือวัดดอกบัว (Lotus temple) ที่ไม่บอกก็รู้ว่าถึงแล้ว เพราะมองเห็นตัวอาคารหินอ่อน สร้างเป็นรูปดอกบัวคลี่กลีบบานขนาดใหญ่ ภายในเป็นที่โล่งให้เข้าไปนั่งทำสมาธิได้ทุกศาสนา แต่เนื่องจากต้องถอดรองเท้าแล้วนำไปไว้ในที่เก็บที่คนเบียดเสียดกันมาก เรากับจุ๋ยเลยนั่งรอและเฝ้ารองเท้าให้หมอปุ้มเป็นตัวแทนไปแสวงบุญอยู่คนเดียว บ่ายคล้อยเราก็บอกแท็กซี่ให้พาไปกินข้าวดีกว่า ถึงแม้ว่าแท็กซี่จะบอกว่านายจ๋าช่วยเข้าไปดูในร้านขายของที่ระลึกซักหน่อยเถอะ เราก็เข้าไปเดินดูกันอย่างเสียไม่ได้ภายใน 5 นาที

อาหารมื้อสุดท้ายที่อินเดียเป็นร้านหรูและรสชาติดีทีเดียว น่าสงสารฝรั่งที่มาคนเดียวโต๊ะข้างๆ สั่งข้าวหมกอะไรซักอย่างมา แต่กินไปคำเดียวก็ทำหน้ายี้ แล้วก็เรียกเก็บเงิน ผิดกับชาวไทยที่กินได้กินดีราวกับเป็นอินเดียกลับชาติมาเกิด รวมถึงของหวานที่หน้าตาคล้ายขนมไข่นกกระทาชุบมาในน้ำเชื่อมชื่อน่ากินว่า กุหลาบจามุน (Gulab Jamun)

ไปถึงสนามบินก่อนเวลานานเหมือนกันพวกเราเลยได้ขนมหวานของอินเดียไปฝากพรรคพวก เมื่อขึ้นไปนั่งบนเครื่องบินกันอีกครั้ง คราวนี้ทั้งลำมีแต่คนไทยคุยกันเสียงดัง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะได้มาม่ากินจนอุ่นท้องแล้วเราก็นอนเอาแรงเพื่อทำงานในเช้าวันถัดมา ถึงสุวรรณภูมิ 2.00 น. จุ๋ยมาส่งถึงบ้าน 4.30 น.